เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [6.ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[230] เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เป็นไฉน
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัส นี้
เรียกว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
[231] เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เป็นไฉน
เวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่โสตสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่ฆาน-
สัมผัส เวทนาที่เกิดแต่ชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่กายสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่
มโนสัมผัส นี้เรียกว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
[232] เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เป็นไฉน
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา และธัมมตัณหา
นี้เรียกว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
[233] เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เป็นไฉน
กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่า
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
[234] เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เป็นไฉน
ภพ 2 คือ กรรมภพและอุปปัตติภพ
ในภพ 2 นั้น กรรมภพ เป็นไฉน
ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร นี้เรียกว่า กรรมภพ
กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่ภพแม้ทั้งหมดเรียกว่า กรรมภพ
อุปปัตติภพ เป็นไฉน
กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ
เอกโวการภพ จตุโวการภพ และปัญจโวการภพ นี้เรียกว่า อุปปัตติภพ
กรรมภพและอุปปัตติภพดังที่กล่าวมานี้ นี้เรียกว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
ภพจึงมี
[235] เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เป็นไฉน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :221 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [6.ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิดเฉพาะ ความปรากฏ
แห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า เพราะ
ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
[236] เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี เป็นไฉน
ชรา 1 มรณะ 1
ในชราและมรณะนั้น ชรา เป็นไฉน
ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหัก ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยวย่น
ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
นี้เรียกว่า ชรา1
มรณะ เป็นไฉน
ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตายกล่าวคือ
มฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดสูญแห่ง
ชีวิตินทรีย์ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ2
ชราและมรณะดังที่กล่าวมานี้ นี้เรียกว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
[237] โสกะ เป็นไฉน
ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายใน ความเกรียมใจ ความโทมนัส ลูกศรคือความโศก ของผู้ที่ถูก
ความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล
หรือความเสื่อมทิฏฐิกระทบ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ3
[238] ปริเทวะ เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 ที.ม. 10/389/260, ม.มู. 12/92/66-7, ม.อุ. 14/373/317, สํ.นิ. 16/2/3,27/41,
28/42, 33/55, ขุ.ป. 31/33/39, อภิ.วิ. 35/192/117
2 ที.ม. 10/390/260, ม.มู. 12/92/67, ม.อุ. 14/373/318, สํ.นิ. 16/2/3,27/41,
28/42,33/55, ขุ.ม. 29/41/102, ขุ.ป. 31/33/39, อภิ.วิ. 35/193/118
3 ขุ.ม. 29/44/106, ขุ.จู. 30/21/76, ขุ.ป. 31/33/39

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :222 }